วัดวิชุนราช

วัดวิชุนราชตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองหลวงพระบาง ถนนวิชุนราช สร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ. 2046 ในสมัยพระเจ้าวิชุนราช ในบรรดาวัดทั้งหมดในเมืองหลวงพระบางเป็นต้องยกนิ้วให้วัดวิชุนในเรื่องมีความแปลกที่พระธาตุรูปร่างโค้งมนเหมือนผลแตงโม และเจดีย์รูปทรงแปลกตานี้เอง ที่กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาวยกให้มีความสำคัญและความโดดเด่นของวัดวิชุน
• วัดวิชุนราชนี้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐาน พระบาง ซึ่งอาราธนามาจากเมืองเวียงคำ ภายในวัดวิชุนราชมีปทุมเจดีย์หรือพระธาตุดอกบัวใหญ่ ซึ่งพระนางพันตีนเชียง พระอัครมเหสีของพระเจ้าวิชุนราชโปรดฯให้สร้างขึ้นในพ.ศ. 2057 หลังจากสร้างวัดแล้ว 11 ปี ด้วยรูปทรงของเจดีย์มีลักษณะคล้ายแตงโมผ่าครึ่งทำให้ชาวเมืองหลวงพระบางเรียกว่า พระธาตุหมากโม เป็นทรงโอคว่ำ ยอดพระธาตุมีลักษณะคล้ายรัศมีแบบเปลวไฟของพระพุทธรูปแบบลังกาหรือสุโขทัย บริเวณมุมฐานชั้นกลางและชั้นบนมีเจดีย์ทิศทรงบัวตูมทั่งสี่มุม พระธาตุหมากโมนี้มีสีดำเก่าๆ แม้จะเคยผ่านการบูรณะปฎิสังขรมาแล้วสองครั้ง ในปีพ.ศ.2402 รัชสมัยของเจ้ามหาชีวิตสักรินทร์(คำสุก) ซึ่งเป็นพระราชบิดาของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ อีก 19 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2457 ในรัชสมัยของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์มีการปฎิสังขรอีกครั้ง ซึ่งการบูรณะครั้งนี้พบโบราณวัตถุมากมาย เช่น เจดีย์ทองคำ พระพุทธรูปหล่อสำริด พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่แกะสลักจากแก้วซึ่งคล้ายกับพระแก้วมรกต โบราณวัตถุเหล่านี้ได้นำถวายเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ และเก็บรักษาไว้ในพระราชวังหลวงพระบางในปัจจุบัน
พระอุโบสถ หรือที่ชาวลาวเรียกว่าสิม เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบาง ตัวอุโบสถมีรูปทรงอาคารไทลื้อสิบสองปันนา ซึ่งมีจุดเด่นคือส่วนคอชั้นสองจะยกระดับสูงขึ้นไป ส่วนบนหลังคาประดับด้วยโหง่(หรือช่อฟ้าแบบไทย) ตรงกลางหลังคามีช่อฟ้า เป็นรูปปราสาทยอดฉัตรเล็กๆ ลดหลั่นหลายชั้น หน้าต่างพระอุโบสถประดับด้วยลูกมะหวด บานประตูด้านหน้าทั้งสามช่องแกะสลักลงรักปิดทอง มีรูปพระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม และพระอินทร์ ศิลปะแบบเชียงขวาง
พระประธาน หรือพระองค์หลวงในพระอุโบสถมีขนาดใหญ่ที่สุดในหลวงพระบาง ด้านหลังพระประธานมีโบราณวัตถุที่เก็บรวบรวมมาจากวัดร้างต่างๆ ในหลวงพระบาง เช่นพระพุทธรูปสำริด พวกไม้จำหลักลวดลายต่างๆ พระพุทธรูปไม้แกะสลักลงรักปิดทองสูงเท่าคนจริงจำนวนมาก
สถานที่ตั้ง อยู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง
ค่าเข้าชม 20,000 กีบ (ประมาณ 40 บาท)
เปิดเวลา 07.00 –17.30 น.

ใส่ความเห็น